1814 จำนวนผู้เข้าชม |
ศ.ดร วรภัทร โตธนะเกษม กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ IRDP ให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ เรื่อง การเปิดหลักสูตร Leadership Succession Program (LSP) เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับการเป็นผู้นำเบอร์สองในการก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง
ถูกตีพิมพ์ ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557
กระแสทั่วโลกต่างพูดถึง Succession plan ในประเทศไทยเองเรื่องนี้ถือว่าค่อนข้างใหม่ แม้แต่ภาคเอกชนก็ยังถามว่าต้องทำอย่างไร
หากพูดถึงคำว่า "ผู้นำ" แน่นอนไม่ว่าใครต่างก็คิดถึง "เบอร์หนึ่ง" ของบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ
อะไรคือความต่างระหว่างคำว่า "หนึ่ง" กับ "สอง" ถ้ามองในเชิงข่าวแล้วหากเนื้อข่าวมีคำกล่าวจากปากผู้นำที่เป็นเบอร์หนึ่ง ข่าวๆ นั้นถือว่ามีน้ำหนัก มีความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าหากเป็นเวทีประกวด หรือในแวดวงกีฬาแล้ว "หนึ่ง" นั้นหมายถึงการแสดงให้เห็นถึงความ "เหนือชั้น" กว่า "สอง" ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องหน้าตา ฝีมือหรือความสามารถ และสิ่งที่ติดตามมาก็คือ ชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง ที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว
เป็นความจริงหรือที่ เบอร์สองต้อง "รองบ่อน"
หากถามเรื่องนี้จะเห็นถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วกับ "คอละคร" เพราะลองหากท่องโลกออนไลน์จะได้เห็นถึงกระทู้ที่เพ้อถึง "พระรอง" อยู่เป็นจำนวนมากที่จริงแท้และแน่นอนที่สุดก็คือ ผู้ที่เป็น "เบอร์สอง" ขององค์กร บริษัท หรือหน่วยงานต่างๆ ห่างไกลจากคำว่ารองบ่อนอย่างสิ้นเชิง เพราะเขาไม่ใช่ "ตัวสำรอง" ทางตรงข้ามพวกเขาเป็น "ตัวจริง" ที่จะก้าวขึ้นแท่นผู้นำเบอร์หนึ่งในอนาคต
เป็นเหตุผลที่ทำให้ ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ หรือ IRDP ตัดสินใจเปิดหลักสูตรที่ชื่อ Leadership Succession Program (LSP) เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้นำเบอร์สองในการก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง
เพราะนอกจากเห็นความสำคัญและตอบโจทย์ในเรื่องของ Succession plan (กระบวนการวางแผนสืบทอดตําแหน่ง)แล้ว หลักสูตรดังกล่าวยังเป็นการเติมช่องว่างในตลาดได้อย่างเหมาะเจาะอีกด้วย
"หลักสูตรผู้นำสำหรับเบอร์หนึ่ง มีอยู่เยอะแยะไปหมด เช่น วปอ.,วตท.และบ.ย.ส. ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราลองดูระดับถัดลงมาจะดีกว่าไหม เพราะกระแสทั่วโลกต่างพูดถึง Succession plan ในประเทศไทยเองเรื่องนี้ถือว่าค่อนข้างใหม่ แม้แต่ภาคเอกชนก็ยังถามว่าต้องทำอย่างไร"
ไม่เพียงเท่านั้น อาจารย์วรภัทรบอกว่า ผู้ที่เข้าเรียนก็มีส่วนช่วยทำให้หลักสูตรมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ของ "ส่วนผสม" หรือ "จำนวน"
"แม้ว่าเราจะเป็นองค์กรภาครัฐและมีจุดมุ่งหมายหลักก็คือรัฐวิสาหกิจ แต่เราไม่อยากจำกัดตัวเอง และคิดทำในขอบเขตที่ไปมากกว่านั้นหากมีความสามารถเอื้อมไปถึง เรื่องของการเทรนนิ่ง ไม่ได้มีข้อจำกัดอะไรในการขยายรับคนจากภาคส่วนอื่น เราจึงตัดสินใจรับคนจากองค์กรภาครัฐทุกรูปแบบ และคิดว่าจะเป็นประโยชน์ถ้าดึงคนภาคเอกชนเข้ามาราวๆ 15 เปอรเซ็นต์บวกลบโดยประมาณ เพื่อทำให้คนทั้งสองฝ่ายเกิดความเข้าอกเข้าใจกัน"
หลักสูตร LSP เปิดรุ่นแรกเมื่อเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายนปี 56 และถือว่าประสบความสำเร็จชนิดที่สร้างความประหลาดใจให้กับอาจารย์วรภัทร ซึ่งเขากล่าวยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ และเกินความคาดหมาย
"พอคิดปุ๊บเราก็เปิดปั๊บเลย มันฉุกละหุกมาก หลักสูตรของเราใช้เวลาสี่เดือน เรียนกันวันพฤหัสบ่าย วันเสาร์เต็มวัน และเราตั้งใจจะรับคนประมาณ 60-80 คน ซึ่งเราได้จริงๆ 60 คน เพราะจากประสบการณ์ของตัวผมเอง และดร.เสรีซึ่งเป็นรองของผม พวกเราต่างผ่านประสบการณ์เรื่องนี้มาเยอะทั้งคู่ คิดว่าถ้าได้คนประมาณนี้กำลังดี ถ้ามากกว่านี้จะบริหารจัดการลำบาก"
หากให้ถอดสลักหาปัจจัยของความสำเร็จที่เกิดขึ้น อาจารย์วรภัทรบอกว่ามีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัย ไม่ว่าผู้เข้าเรียน 60 คนซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่อุ้ยอ้าย และสามารถสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว ส่วนคนที่เข้าเรียนในหลักสูตรก็อยู่ในระดับเดียวกัน คือเป็นเบอร์สองที่มีเป้าหมายว่าจะได้เป็นเบอร์หนึ่ง
ในที่นี้ต้องแสดงความยินดีกับ 3 ท่าน ที่ภายหลังจากเรียนจบหลักสูตรนี้ไปก็ได้รับการแต่งตั้งขึ้นสู่เป็นเบอร์หนึ่ง ได้แก่ "ปณิธาน จินดาภู" อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม "วัลลภ เตชะไพบูลย์" กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และ "อรจรรยา จันทวรสุทธิ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทยธรกิจบริการ จำกัด
เรื่องของการเทรนนิ่งหนีไม่พ้น ความโดดเด่นของวิทยากร และต้องอย่าแปลกใจว่าทำไมหลักสูตรของ LSP จึงได้รับความนิยมแบบถล่มทลาย แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นน้องใหม่ด้วยเพิ่งเปิดขึ้นเป็นครั้งแรก
เพราะวิทยากรของหลักสูตรนี้ล้วนเป็นระดับ "บิ๊กเนม" ดังนี้ หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล ,ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ ,ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ,ดร.คณิศ แสงสุพรรณ และประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นต้น
ต้องหมายเหตุด้วยว่าในเรื่องศาสตร์ของผู้นำนั้น อาจารย์วรภัทร ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกูรูเมืองไทย ซึ่งมีความรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เมื่อเร็วๆ นี้เขายังได้เขียนหนังสือ "อยากเป็นผู้นำ ต้องจำ 7 เพลง" ถ่ายทอดเคล็ดการเป็นผู้นำแบบฟินๆ ชนิดไม่เครียดเลยสักนิด
นอกจากนั้น อาจารย์วรภัทร บอกว่าสำหรับตัวเขาแล้วคิดว่าทีมงาน หรือคนเบื้องหลัง ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น
ข่าวดีก็คือ หลักสูตร LSP กำลังจะเปิดห้องเรียนสำหรับศิษย์รุ่นที่สอง ในวันที่ 17 ก.พ.นี้ (นั่นหมายถึงได้ปิดรับสมัครแล้วแต่หากใครสนใจก็คงต้องรอเปิดรับสมัครรุ่นที่สามในเดือนส.ค.ปี 57)
ถามว่าหลักสูตรจะมีการปรับใหม่หรือไม่ อย่างไร
อาจารย์วรภัทรคอนเฟิร์มว่าโดยเนื้อหาสาระ และตัววิทยากรยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี มีฟีดแบ็คที่ได้รับจากผู้เข้าเรียนรุ่นที่ 1 ก็คือ ควรต้องปรับช่วงเวลาในการสอนของตัวเขาเอง โดยการสลับตำแหน่งจากเดิมที่ทำหน้าที่ "ปิด" เปลี่ยนมาทำหน้าที่เป็นคน "เปิด" หลักสูตร
"แทนที่ผมจะเริ่มสอนในวันสุดท้าย ก็มาสอนวันแรกเลย เพราะการสอนของผมเป็นการปูภาพให้ผู้เรียนทุกคนได้เห็นภาพตั้งแต่วันแรกว่าภายในระยะเวลา 4 เดือนที่เรียนจะมีภาวะผู้นำในเรื่องใดที่ต้องพัฒนา เบอร์สองและเบอร์สามในวันที่ได้ขึ้นเป็นซีอีโอ เขาจะต้องเผชิญหน้ากับงานที่ท้าทายมากน้อยเพียงไร พวกเขากำลังเดินไปสู่อะไรบ้าง"
กระดาษเพียงหน้าเดียวไม่อาจเล่าได้ทุกเรื่องราว ยังมีแนวความคิดดีๆ อีกหลายเรื่องราว ที่อาจารย์วรภัทรถ่ายทอดให้ฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสโลแกนของ IRDP ที่ว่า "Reaching New Boundaries" ภารกิจในการนำผู้คนไปสู่พรมแดนใหม่ที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ดีขึ้นกว่าเดิม
สโลแกนเท่ๆ นี้สามารถสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างไร...โปรดติดตามได้ในตอนต่อไป
Tags : ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม
ที่มา www.bangkokbiznews.com/home/news/business/hr/news-list-1.php , เข้าถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557
ต้องการดูข้อมูลบน Web Site กรุงเทพธุรกิจ คลิกที่นี้