5066 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาคการผลิตไฟฟ้า มีการปล่อยก๊าซ CO2 ในปี 2564 ลดลงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์อยู่ที่ระดับ 32.9 ล้านตัน CO2 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.2 การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วน สูงสุด ร้อยละ 63 มีการปล่อยCO2 อยู่ที่ระดับ 55.3 ล้านตัน CO2 ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.1 ในขณะที่การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในการผลิตไฟฟ้ามีปริมาณเพียงเล็กน้อย ที่ระดับ 0.1 ล้านตัน CO2 มีการปล่อย CO2
เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3
สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้า (kWh) ในปี 2564 มีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยที่ระดับ 0.42 กิโลกรัม CO2 ต่อ 1 kWh ลดลงร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อ kWh ของประเทศไทยกับต่างประเทศ ในปี2560 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) พบว่า ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ระดับ 0.42 กิโลกรัม CO2 ต่อ 1 kWh ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมประเทศจีน) และประเทศจีน ซึ่งมีการปล่อยก๊าซ CO2 เฉลี่ย ที่ระดับ 0.61 และ 0.62 กิโลกรัม CO2 ต่อ 1 kWh ตามลำดับ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม ยังสูงกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรป ที่มีการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ระดับ 0.35 และ 0.29 กิโลกรัม CO2 ต่อ 1 kWh ตามลำดับ เนื่องจากปัจจัยด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศพัฒนาแล้วที่มีการใช้นิวเคลียร์ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่ก่อให้เกิดการ ปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรป มีการใช้นิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 และ 22 ตามลำดับ รวมถึงการผลักดันและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวี ความรุนแรงขึ้น ทำให้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย มีการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้การปล่อยก๊าซ CO2 ต่อ kWh มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ข้อมูล ณ 21 มีนาคม 2565