กฎหมายฉบับใหม่ได้มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมกระบวนการของการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาทิ ในแง่การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ โดยมีการเพิ่มเติมและปรับปรุงหลักเกณฑ์ กำหนดนโยบายให้มีขั้นตอนที่ชัดเจนและแน่นอนมากขึ้น มุ่งเน้นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชนที่ชัดเจน เพิ่มมาตรการรวมถึงกลไกในการแก้ไขปัญหา อุปสรรค ความล่าช้าในการจัดทำหรือดำเนินโครงการร่วมลงทุนให้มีความกระชับ ตั้งอยู่บนหลักการเปิดเผยโปร่งใสและตรวจสอบได้ ตลอดจนมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้แก่โครงการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง มีการถ่ายทอดความรู้ไปยังหน่วยงานและบุคลากรของรัฐ วางกฎระเบียบรองรับที่เหมาะสมในการคัดเลือกและกำกับดูแลต่อไป อีกทั้งมุ่งเน้นการใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรมของเอกชน เพื่อให้เอกชนสามารถวางแผนการดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น การพัฒนานโยบายและโครงการ PPPs ยังถือเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญสำหรับประชาคมอาเซียน โดยได้มีการบรรจุให้ PPPs เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ในเอกสารวิสัยทัศน์อาเซียน 2025 (ASEAN Vision 2025) ด้วย ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาโครงการ PPPs ให้มีมาตรฐานในระดับที่สามารถเป็นผู้นำของประชาคมอาเซียนในประเด็นดังกล่าวได้ต่อไป
เนื่องจากการดำเนินการและการปฏิบัติงานตามกฎหมายร่วมลงทุน มีขั้นตอนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งได้แก่ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอิสระ โดยการสร้างความเข้าใจในกรอบการทำงาน กลไก และการพัฒนาโครงการ PPPs อย่างเป็นรูปธรรม จึงนับเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อไป